ก้าวย่างอย่างปลอดภัย....บนเส้นทาง cover walkway
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีแนวคิดในการออกแบบทางเดินเชื่อมอาคาร (cover walkway) ซึ่งมีหลังคาคลุมเป็นเหมือนระเบียงทางเดิน ตั้งแต่แรกเริ่ม คือ เพื่อใช้ประโยชน์ในการกันฝน และทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์และ Architecture Feature ที่เชื่อมโยงกลุ่มของอาคารต่าง ๆ ที่แผ่กระจายอยู่โดยรอบเขตการศึกษาและแสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย แนวคิดนี้มาจากรูปแบบการประยุกต์จากระเบียงทางเดินรอบ ๆ โบสถ์วิหารของวัดไทย โดยมีหลังคาซึ่งใช้วัสดุแผ่นใสรูปโค้ง ทอดยาวตลอดแนวของทางเดินจะถูกแบ่งเป็นช่วง ๆ ด้วยซุ้ม บริเวณทางแยกทางเชื่อม ซึ่งมีไม้ประดับบริเวณชายคา มีศาลาพักคอย และยังมีทางเดินรอง ที่สามารถเดินลัดเลาะไปตามทางเดินริมอาคารต่าง ๆ ด้วย
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความสำคัญกับการเดินเท้าภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยขยายเส้นทางเพิ่มจากโซนหอพักนักศึกษามายังกลุ่มอาคารเรียน ศูนย์บริการรถขนส่งสาธารณะภายในมหาวิทยาลัย และเพื่อความปลอดภัยของนักศึกษาในการข้ามถนนในจุดอันตราย มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสร้างสะพานลอยข้ามแยกเพิ่มเติม ซึ่งสอดคล้องกับ SDG ที่ 11.4.6 Pedestrian priority on campus การให้ความสำคัญของคนเดินเท้าในมหาวิทยาลัย สร้างสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ ตามแผนปฏิบัติการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างภาพลักษณ์เป็นเมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวแห่งความสุข โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีเป้าหมายในการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัย (Residential University) ที่มีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการแบบครบวงจร


















