ประเพณีลอยกระทง

WU

ลอยกระทงเสริมส่งประเพณี สู่วิถีธรรมชาติ

การลอยกระทง

เป็นนักขัตฤกษ์รื่นเริงอย่างหนึ่งของชาวไทย  มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย  ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  และได้กระทำต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  เดิมเป็นพิธีหลวง  เรียกว่า “พระราชพิธีจองเปรียง  ลดชุด ลอยโคม ส่งน้ำ” ต่อมา เรียกว่า “ลอยพระประทีป” และเมื่อกลายเป็นพิธีราษฎร์ เรียกกันว่า “ลอยกระทง”

เทพีนพมาศ

ระ

ประเพณีลอยกระทงเดิมทำกันในวันเพ็ญ เดือน 11 และวันเพ็ญ เดือน 12 ปัจจุบันจัดให้มีประเพณีลอยกระทงเฉพาะวันเพ็ญ เดือน 12 เท่านั้น
ประเพณีนี้สันนิษฐานว่าได้มาจากอินเดีย ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ

ลัทธิพราหมณ์เชื่อว่า ลอยกระทงเพื่อบูชาแม่คงคาอันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ประการหนึ่ง และเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่กลางเกษียรสมุทร อีกประการหนึ่ง

ทางศาสนาพุทธ เชื่อว่าลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ทรงประทับไว้ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที (ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา) อยู่ในประเทศอินเดีย บ้างก็เชื่อว่าเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระจุฬามณีพระเจดีย์บนสวรรค์ บางท่านเชื่อว่า เพื่อขอบคุณพระแม่คงคาที่เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้และขอขมาต่อท่านที่่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำ
การลอยกระทงในสมัยสุโขทัยใช้อุปกรณ์สำคัญ คือ โคมไฟ มีโคมชัก (โคมไฟที่ใช้สำหรับชักไว้บนเสาระหงบนที่สูง) โคมแขวน (โคมไฟที่ใช้แขวนห้อย) โคมลอย (โคมไฟที่ใช้สำหรับลอยในน้ำ) มักทำเป็นกระทงรูปต่าง ๆ ซึ่งมีดวงไฟหรือประทีปจุดด้วยน้ำมันเปรียงแล้วยังมีเครื่องบูชาอย่างอื่นอีก ได้แก่ ธูป เทียนและดอกไม้

นอกจากนี้ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ยังเสด็จไปถวายดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวง และทรงทอดผ้าบังสุกุลจีวร ทรงอุทิศถวายพระภิกษุสงฆ์อันถึงปรารถนานั้นด้วย แล้วทรงทอดพระเนตร ทรงฟังประชาชนชายหญิงร้องรำเล่นนักขัตฤกษ์เป็นการมหรสพต่าง ๆ สำราญราชหฤทัย"

ปัจจุบันประเพณีลอยกระทง ไม่มีพิธีการทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะเป็นเทศกาลเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงของประชาชนเนื่องในวันเพ็ฯเดือน 12 ซึ่งมีน้ำเจิ่งนอง และเป็นคืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง มีบรรยากาศที่ชวนรื่นรมย์ ชาวไทยทั่วประเทศรวมทั้งชาวไทยภาคใต้นิยมทำกระทงเป็นรูปต่าง ๆ ประดับประดาสวยงาม พรั่งพร้อมไปด้วยเครื่องสักการบูชาต่าง ๆ มีธูปเทียน ดอกไม้ เป็นต้น บางคนอาจจะนำข้าวสาร พริก หอม กระเทียม กะปิ เกลือ เงินเหรียญและตัดเล็บ ตัดผม ใส่ลงไปในกระทงถือเป็นการลอยเคราะห์ไปด้ว
ในคืนลอยกระทง องค์การและสถาบันต่าง ๆ ตลอดจนถึงประชาชนโดยทั่วไปนิยมประดิษฐ์กระทงกันอย่างวิจิตรบรรจงเพื่อนำมาประกวดกัน และใช้เพื่อนำไปลอย บางจังหวัดอาจมีการจัดงานลอยกระทงที่ยิ่งใหญ่ มีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ มีศิลปะการแสดงของนักเรียนนักศึกษา และมีมหรสพมากมายมาแสดงเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่สนุกสนานประกอบในประเพณีลอยกระทง

กิจกรรมประเพณีวันลอยกระทง เป็นโครงการที่จัดขึ้นด้วยการบูรณาการร่วมกันระหว่างอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์  ส่วนกิจการนักศึกษา องค์การบริหารองค์การนักศึกษา  และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งเป็นโครงการที่กระทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี  มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้อยู่คู่สังคมไทย เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย  หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่กับอนุชนรุ่นหลัง  ตลอดจนเป็นการดำเนินการตามนโยบายมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว  โดยการส่งเสริมและรณรงค์ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยใช้กระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้  เป็นเป้าหมายหลักสำคัญของการจัดกิจกรรม