ด้วยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนโบราณ มีร่องรอยวัฒนธรรมพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายประดิษฐานตั้งแต่เริ่มแรก ดังที่พบหลักฐานแหล่งโบราณคดีตุมปัง ครั้นเมื่อพุทธศาสนาเจริญขึ้น พราหมณ์เสื่อมลงที่ตั้งเทวสถานเดิมก็มีพระในพุทธศาสนาเข้าไปตั้งวัด เทวสถานตุมปังจึงกลายเป็นวัดตุมปังโดยปริยาย การค้นพบร่องรอยโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาในบริเวณมหาวิทยาลัย ทั้งร่องรอยเจดีย์ในบริเวณบ้านพักบุคลากร ที่วัดจันออก วัดจันตก ตลอดจนวัดแสงแรงคือร่องรอยและหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา แม้ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งร้างไปนานแล้ว แต่ล้วนคือหลักฐานทางโบราณคดีที่สะท้อนอดีตความเป็นศูนย์กลางทางจิตใจและการใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของคนในชุมชนละแวกนั้นที่ได้ก่อตัวมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งร่องรอยความเก่าแก่ดังกล่าวล้วนมีเสน่ห์อย่างยิ่ง และเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาทางประวัติศาสตร์โบราณคดี และอาจรวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมด้วย

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงมีแผนพัฒนาโบราณสถานต่าง ๆ ดังกล่าวขึ้นเป็น “อุทยานโบราณคดี” ซึ่งจะต้องประสานความร่วมมือกันหลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีในการร่วมกันศึกษาและพัฒนาให้เกิดแหล่งเรียนรู้ และกระบวนการศึกษาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยให้ปรากฎสู่สังคมวงกว้าง จึงกำหนดจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ “ติดตามตามพรลิงค์ ค้นความจริงโบราณสถานตุมปัง” ขึ้น ในวันที่ ๒ – ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อให้เกิดการสร้างฐานความรู้ทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโบราณสถานตุมปังที่ชัดเจนยิ่งขึ้น 

การจัดส้มมนาวิชาการครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีร่วมเป็นวิทยากร และนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นประโยชน์ในการอธิบายและศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโบราณสถานตุมปัง โดยได้รับความกรุณาจาก นายสด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ได้ให้เกียรติเป็นองค์ปาฐก และมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำโดย ดร.อมรา ศรีสุชาติ อาจารย์ธราพงษ์ ศรีสุชาติ คุณนงคราญ สุขสม ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช คุณเขมชาติ เทพไชย ผศ.ดร.กฏษณ์ วันอินทร์ ดร.บรรจง ทองสร้าง และ ผศ.ดร.มารวย เมฆานวกุล ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ และมีผู้สนใจเข้าร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนปากพนัง โรงเรียนท่านครญาณวโรภาสอุทิศ และนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้าร่วมการสัมมนารวมกว่า ๓๐๐ คน ถือได้ว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนาตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์มีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมและพัฒนาโบราณสถานตุมปังให้เกิดการสร้างสรรค์คุณค่าและองค์ความรู้สู่การพัฒนาให้เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญของชาติสืบไป 






Facebook Comments Box