มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จัดงานทำบุญทวดตุมปัง ประจำปี ๒๕๖๑ เพื่อส่งเสริม ปลูกฝัง คุณค่าด้านคุณธรรมจริยธรรม และกระตุ้นให้นักศึกษาและบุคลากรได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของแหล่งโบราณสถานเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันพุธที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ณ โบราณสถานตุมปัง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประธานในพิธี นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ นายอำเภอท่าศาลา แขกผู้มีเกียรติและประชาชนในพื้นที่อำเภอท่าศาลาและจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมทำบุญทวดตุมปังในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก 

การจัดทำบุญทวดตุมปัง ประจำปี ๒๕๖๑ ในครั้งนี้ ได้จัดพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ เพื่อบวงสรวงและแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ โบราณสถานตุมปัง โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้เกียรติเป็นประธานทั้งในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา และถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ 

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ได้กล่าวถึงโบราณสถานตุมปัง ว่า เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่ง ที่ขุดค้นและมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าดินแดนแห่งนี้ เรียกว่า ศรีธรรมราชมหานคร มีผู้คนนับถือศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ทั้งนี้เพราะการขุดพบอาคารสิ่งก่อสร้าง ๔ หลัง รูปเคารพพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (บางท่านว่ารูปพระโพธิสัตว์ปางอื่น) และวัตถุโบราณอีกหลายรายการ ประมาณอายุ พ.ศ.๑๓๐๐ บางส่วนก็ประมาณอายุอยู่ในราวช่วง พ.ศ.๑๖๐๐ ถึง ๑๗๐๐ เศษ ช่วงหลังจะตรงกับสมัยของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ๓ องค์ พระเชษฐาและอนุชา คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช อนุชาจันทรภาณุ และพงษาสุระ 

โครงการอาศรมวัฒนธรรม (ชื่อเดิมของอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานศิลปากรที่ ๑๔ จังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานตุมปังแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ หลังจากดำเนินการดังกล่าวแล้วก็มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับโบราณสถานตุมปังเพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลเอาไว้เป็นหลักฐานในการศึกษาต่อไป 

ทั้งนี้ ทางอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ได้ระดมทุนเพื่อสมทบทุนสร้าง “หลาทวดตุมปัง” โดยอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ได้ระดมทุนมาตั้งปี ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบัน ในเบื้องต้นรูปแบบโครงสร้าง “หลาทวดตุมปัง” ประมาณการงบประมาณในการก่อสร้างอยู่ที่ ๓๐๐,๐๐๐ บาท 

หากท่านใดประสงค์ที่จะบริจาคสามารถบริจาคได้ที่ ธนาคารออมสิน สาขาท่าศาลา ชื่อบัญชี “ทุนทำบุญโบราณสถานตุมปังและเนินอิฐ” บัญชีเลขที่ ๐๒๐๐๔๑๔๓๑๒๙๕ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โทรศัพท์ ๐-๗๕๖๗-๒๕๐๘-๑๐ 

Facebook Comments Box