DSC_4003

DSC_4050

DSC_4226

normal_DSC_4070

normal_DSC_4087

 อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จัดงานวันภาษาไทยวลัยลักษณ์ ’59 เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ภาษาไทย และกระตุ้นให้เยาวชนไทยอนุรักษ์และใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง โอกาสนี้ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันร้อยกรอง เข้ารับโล่พระราชทานหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านภาคใต้ดีเด่น ประจำปี 2559  เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานงานวันภาษาไทยวลัยลักษณ์ ประจำปี 2559 พร้อมมอบรางวัลให้แก่ผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านได้ดี เป็นแบบอย่างในทางสร้างสรรค์ จำนวน 3 คน ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ ครู นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกว่า 500 คน

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า วันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นประธานการประชุมทางวิชาการชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็น “ปัญหาการใช้ภาษาไทย” พระองค์ทรงให้ข้อคิดเห็นหลายอย่างในเรื่องการเขียน การอ่าน การพูดภาษาไทย ที่ถูกต้อง ทรงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับปัญหาการใช้ภาษาไทยไว้หลายประการ ว่า “ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของมนุษย์ คือเป็นทางสำหรับการแสดงอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาไว้อย่างดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเองแต่ไม่ค่อยแข็งแรง เขาต้องพยายามที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีอีกหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ ในทางออกเสียงคือออกให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างคือรักษาให้ถูกต้องบริสุทธิ์ในวิธีใช้”

DSC_4060

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากคนไทยยังรักภาษาไทยและใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ภาษาไทยของเราก็จะคงอยู่อีกนานแสนนาน การที่เราใช้ภาษาไทยถูกต้อง สร้างสรรค์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเอาไว้ เท่ากับเราได้ร่วมกันอนุรักษ์ภาษาชาติเอาไว้ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป ในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เองได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการส่งเสริมให้นักศึกษาทุกคนมีความรู้ ความสามารถด้านการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์การใช้ภาษาไทย และตระหนักเห็นถึงคุณค่าของความเป็นคนไทยที่ใช้ภาษาไทยได้ดี

DSC_4013
รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมของชาติ ที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างความเข้าใจ สร้างสรรค์วรรณศิลป์และศิลปะที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ มาเป็นเวลานาน อาจจะก่อน พ.ศ. 500 เพราะในพระไตรปิฎกกล่าวถึงเมืองในภาคใต้ ชื่อ “ตามพรลิงค์” ซึ่งการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้คำตอบว่า เมืองนี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เขาคา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และน่าจะมีภาษาที่ใช้ในการพูดหรือการออกเสียงสืบทอดมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน ต่อมามีการประดิษฐ์อักษรขึ้นมาใช้แทนเสียงเป็นครั้งแรกและยกย่องกันว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทย ไทยจึงมีการใช้อักษรหรือลายสือไทเขียนกันมาจากบัดนั้นจนกระทั่งถึงบัดนี้ ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญด้านภาษาไทย อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงจัดงานวันภาษาไทยวลัยลักษณ์ ’59 ขึ้น เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ภาษาไทย และเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านดีเด่นเป็นแบบอย่าง รวมถึงเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในภาษาไทยดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นบริการวิชาการแก่สังคม ตลอดจนเป็นกิจกรรมด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม กระตุ้นให้คนไทยอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป

normal_DSC_4111 normal_DSC_4114 normal_DSC_4126

normal_DSC_4180 normal_DSC_4187 normal_DSC_4192

โอกาสเดียวกันนี้ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันร้อยกรอง เข้ารับโล่พระราชทานหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มอบโล่ เกียรติบัตรและเงินรางวัล แก่รองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 และรางวัลชมเชย พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านภาคใต้ดีเด่น ประจำปี 2559 เพื่อส่งเสริมและยกย่องบุคคลผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านได้ดีเป็นแบบอย่างในทางสร้างสรรค์ ซึ่งมีผู้ได้รับโล่ดังกล่าว จำนวน 3 คน ได้แก่ นางสาคร ไหมศรีกรด นายจำเนียร คำหวาน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

นอกจากนี้ยังมีการเสวนา ในหัวข้อ “ภาษาถิ่นในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง” เพื่อเป็นการกระตุ้นปลูกฝังให้สังคม เยาวชนไทยหันมาใช้และอนุรักษ์ภาษาถิ่นและเกิดความตระหนักถึงคุณค่าภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ตลอดไป โดยการเสวนา ภาษาถิ่นในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง : ภาษาถิ่นในเพลง โดยวิทยากร คุณเทอดพงศ์ เภอบาล (พงศ์ วงพัทลุง) และโอ พารา (นักแต่งเพลง เจ้าของค่ายเพลงพาราฮัท) โดยมี อาจารย์ ดร.สุขุมาล กล่ำแสงใส อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และการเสวนา ภาษาถิ่นในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง : จากวันนั้น…ถึงวันนี้ ในวิถีเพลงใต้ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยงยุทธ ดำศรี (ศิลปินวงด้ามขวาน อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี) อาจารย์ ภิญโญ เพชรแก้ว อาจารย์มงคล เลาหภิวัฒน์ และคุณนคร ศรีรัตน์ เป็นวิทยากร และรองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการอีกด้วย

Facebook Comments Box