12967520_1008708939208501_4742162776208055496_o DSC_6267_28Large29 DSC_6275_28Large29

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำทีมคณะผู้บริหารชุดใหม่ เดินทางเข้าสักการะทวดตุมปังและเยี่ยมชมโบราณสถานตุมปัง โบราณสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่นับถือของชาววลัยลักษณ์และชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย เพื่อขอพรและความเป็นสิริมงคลในโอกาสที่เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บริหารที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันแรก ช่วงเช้าวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ณ บริเวณโบราณสถานตุมปัง

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ให้การบรรยายถึงโบราณสถานตุมปังนับได้ว่าเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่ง ที่ขุดค้นแล้วทำให้ได้คำตอบและมีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าดินแดนที่เรียกว่า ศรีธรรมราชมหานคร ผู้คนนับถือศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ทั้งนี้เพราะพบอาคารสิ่งก่อสร้าง 4 หลัง รูปเคารพพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (บางท่านว่ารูปพระโพธิสัตว์ปางอื่น) และวัตถุโบราณอีกหลายรายการ ประมาณอายุ พ.ศ.1300 บางส่วนก็ประมาณอายุอยู่ในราวช่วง พ.ศ.1600 ถึง 1700 เศษ ช่วงหลังจะตรงกับสมัยของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช 3 องค์พระเชษฐาและอนุชา คือพระเจ้าศรีธรรมโศกราช อนุชาจันทรภาณุ และพงษาสุระ ด้วยความน่าสนใจของโบราณสถานแห่งนี้นี่เอง โครงการอาศรมวัฒนธรรม (ชื่อเดิมของอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานศิลปากรที่ 14 จังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานตุมปังแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2545 หลังจากดำเนินการดังกล่าวแล้วก็มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับโบราณสถานตุมปังเพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลเอาไว้เป็นหลักฐานในการศึกษาต่อไป

สำหรับทวดตุมปังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในแถบนี้เชื่อว่าเป็นงูบองหลา หรืองูจงอางเผือก (สีขาว) ที่คอยปกปักษ์รักษาไม่ให้ใครเข้าไปทำลายแหล่งโบราณสถานที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดร้างตุมปัง”

Facebook Comments Box