อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยภาคใต้ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมและยกย่องบุคคลผู้ใช้ภาษาไทยภาคใต้ได้ดี เป็นแบบอย่างในทางสร้างสรรค์ จำนวน ๔ คน คือ

นายนิตย์ พงศ์พฤกษ์   เป็นผู้ที่ใช้ภาษาถิ่นภาคใต้ในการถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมประเพณีของชาวเกาะยอ ผ่านการประพันธ์คำขวัญประจำตำบลเกาะยอ และนำมาขยายประพันธ์เป็นบทเพลง และได้รับการยอมรับ นิยมนำมาเปิดในงานของหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังประพันธ์เพลงเชิญชวนท่องเที่ยวเกาะยอ แต่งเพลงสมเด็จประเจ้าเกาะยอ และได้แต่งเพลงกล่อมเด็ก โดยนำเพลงกล่อมเด็กเกาะยอที่นิยมร้องในโบราณมาแต่งเพิ่มเติมให้มีความทันสมัยเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
นายวิเชียร เกื้อมา หรือหนังรุ่งวิเชียร ตะลุง เสียงทอง มีสายเลือดความเป็นศิลปิน เริ่มหัดเล่นหนังมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากมีเครือญาติเป็นนายหนังตะลุง และได้คลุกคลีกับหนังตะลุงมาตลอดจนทำให้ซึมซับหนังตะลุง และพยายามเรียนรู้ ทักษะต่าง ๆ ของหนังตะลุง นายวิเชียร เกื้อมา เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านการใช้ภาษาไทยใต้เป็นอย่างดี มีความถนัดประพันธ์บทร้อยกรองประกอบชุดการแสดงของนักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลปพัทลุง จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐๐ สำเนา
 
นายสุเชาว์ พงศานนท์ เป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยท้องถิ่นภูเก็ตในชีวิตประจำวันมาโดยตลอด ในผลงานการเขียน เรื่องสั้น นวนิยาย บทความ หรือสารคดีต่างๆ นั้นแม้จะใช้ภาษากลางเป็นภาษากลางแต่ก็ยังสอดแทรกภาษาไทยท้องถิ่นภูเก็ตไว้ในเรื่องที่เขียนตามความเหมาะสมและความสมจริงของเนื้อเรื่อง เช่นการบรรยายสถานที่ การบรรยายฉากเหตุการณ์ ตลอดจนชื่อตัวละครต่างๆ และบทการสนทนาต่างๆของตัวละครในเรื่องสั้น หรือนวนิยาย ซึ่งการสอดแทรกภาษาไทยท้องถิ่นภูเก็ตนั้น ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้นและไม่เป็นการทำลายอรรถรสในการอ่าน นอกจากนี้ ยังมีงานการเขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “ต้นโย้งในสายลม” เป็นการส่งเสริมให้ผู้อ่านได้รู้จักศิลปะการแสดงประเภทเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่ง คือ “เพลงตันหยง” ยังเป็นคณะกองบรรณาธิการในการจัดทำหนังสือ “พจนานุกรมภาษาถิ่นภูเก็ต ปี ๒๕๖๐ ”
 
นายวิโรจน์ อินทศิลา ชอบร้องรำทำเพลง เจ้าบทเจ้ากลอน โดยเป็นผู้มีพรสวรรค์ และยังมีพรแสวง โดยไม่เคยเข้าเรียนเรื่องบทกลอนจากสำนักใด ๆ แต่สามารถขับบทกลอนสด ๆ หรือเพลงบอก ๆ ตามงานหรือวาระโอกาสต่าง ๆ และแต่งเรื่องราวเป็นบทร้อยแก้ว ร้อยกรองได้เป็นอย่างดี (จะแต่งสด ๆ พร้อมเขียนลงในกระดาษทันที ไม่มีการลบหรือแก้ไขใหม่นอกจากจะร่วมขับกลอนเพลงบอก ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังชอบเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเล่าตำนานพื้นบ้านทั้งบทร้อยแก้ว ร้อยกรอง โดยเฉพาะเป็นบทร้อยกรอง (บทกลอนประจำถิ่น) อาทิ เรื่อง พระบรมธาตุเมืองนคร ฯ, ปิดทองหลังพระ, “ทุ่งหัดมา ตาขรัวทองสุก” ,พระยาลอต่อไก่ เป็นต้น

 

Facebook Comments Box