สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าปีที่ 20 และมุ่งพัฒนาคุณภาพเพื่อยกระดับสู่วารสารระดับนานาชาติ จึงมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรูปแบบของบทความ การเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรมเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาคุณภาพวารสารตามหลักเกณฑ์ของฐานข้อมูล Scopus ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ บรรณาธิการ และอาจารย์ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง รองบรรณาธิการ ให้ความสำคัญกับคุณภาพของบทความ และจะเปิดรับบทความภาษาอังกฤษ เพื่อให้สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์เป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ได้รับมาตรฐานระดับนานาชาติ

สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2563) มีบทความ วิชาการและบทความวิจัย จำนวน 8 บทความ ประกอบด้วย

บทความแรก เรื่องการสังเคราะห์การดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ: การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและกิจการเพื่อสังคม โดย ธีรนงค์ สกุลศรี และ ปาณฉัตร ทิพย์สุข เป็นบทความมีความน่าสนใจ ผู้เขียนวิเคราะห์และถอดบทเรียนการดูแลผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ศึกษาในบริบทของประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นข้อเสนอสำหรับการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย

บทความที่สอง เรื่องฟ้อนโคมบูชา หัตถศิลป์ ถิ่นเมืองสารท โดย ตรีธวัฒน์ มีสมศักดิ์, วิภาดา เพชรโชติ, สุนิสา สุกิน และ อาทิตยา ผิวขำ เป็นบทความวิจัยสร้างสรรค์งานศิลปะนิพนธ์เชิงสร้างสรรค์ บทความที่หยิบเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นรูปแบบการแสดงที่สามารถเล่าเรื่องราวอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ

บทความที่สาม เรื่อง “ผ้าชนเผ่าในล้านนา” รูปแบบ ความสวยงาม และคุณค่าของหัตถกรรมคนชายขอบ โดย ภาณุพงศ์ จงชานสิทโธ บทความที่ว่าด้วยเรื่องราวของผ้าล้านนา ที่มีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชนเผ่าภาคเหนือ ผู้เขียนวิเคราะห์รูปแบบและคุณค่าความสวยงามของผ้าชนเผ่าไว้อย่างน่าสนใจชวนติดตาม

บทความที่สี่ เรื่องมนต์เสน่ห์ผ้าทอ กะเหรี่ยง: ความสวยงามของลวดลายบนวิถีชาติพันธุ์ โดยสุพจน์ ใหม่กันทะ บทความนี้บอกเล่าเรื่องราวของผ้าทอ กะเหรี่ยง ไว้อย่างน่าสนใจ อธิบายความสวยงามของลาดลายผ้าที่เชื่อมโยงกับวิถีวัฒนธรรม และขนบของชนเผ่ากะเหรี่ยงผ่านรูปแบบความเชื่อและความศรัทธา รวมถึงการสืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษ

บทความที่ห้า เรื่องการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นวัฒนธรรมการทอผ้าของชุมชนไทยโส้ อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม โดย พณิฐา ยงพิทยาพงศ์, วีระศักดิ์ จุลดาลัย และศราวุธ ราชมณี เป็นบทความที่ชี้ให้เห็นบริบทด้านวัฒนธรรมการทอผ้า กระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้า และแนวทางการนำภูมิปัญญาการทอผ้าของชุมชนไทยโส้ สู่แนวทางพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

บทความที่หก เรื่อง มรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทรงคุณค่า: ชุมชนท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยวิรุจ ถิ่นนคร และวีระ อินพันทัง ผู้วิจัยศึกษาสำรวจสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในชุมชนท่าวัง เพื่อทดลองประเมินคุณค่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่ศึกษาและหาคุณลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทรงคุณค่าในพื้นที่ชุมชนท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยวิเคราะห์ปัจจัยด้านสุนทรียภาพ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านวิทยาการและการศึกษา และด้านสังคม ผู้เขียนวิเคราะห์คุณค่าเชิงสถาปัตยกรรมไว้อย่างน่าสนใจ

บทความที่เจ็ด เรื่องข้อสังเกตเกี่ยวกับการประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วที่หาดทรายแก้ว โดย พระมหาพจน์ สุวโจ และพระมหาถนอม อานนฺโท เป็นบทความที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วที่หาดทรายแก้ว ตามตำนานภาคใต้ ชวนให้ผู้อ่านคิดวิเคราะห์ ในประเด็น พระเขี้ยวแก้วเคยมาประดิษฐานที่นครศรีธรรมราชจริงหรือไม่? ซึ่งผู้เขียนได้วิเคราะห์ตามวรรณกรรมของศรีลังกาไว้อย่างน่าสนใจ

บทความที่แปด เรื่องการวิเคราะห์ความเป็นตระกูลภาพยนตร์วัยรุ่นของภาพยนตร์ไทย โดย ทรงเกียรติ จรัสสันติจิต, มาโนช ชุมเมืองปัก และฐิตินัน บุญภาพ คอมมอน เป็นบทความที่ผู้เขียนวิเคราะห์ตระกูลภาพยนตร์วัยรุ่นของภาพยนตร์ไทย โดยศึกษาสูตรนิยมการเล่าเรื่องและสถานะความเป็นตระกูลของภาพยนตร์วัยรุ่นไทย บทความนี้จะชวนให้ผู้อ่านขบคิดและมองเห็นรูปแบบสูตรการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ ซึ่งทำให้เห็นเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ปิดท้ายฉบับนี้ ด้วยบทความวิจารณ์หนังสือ ของหัตถกาญจน์ อารีศิลป แนะนำหนังสือ เรื่อง อ่าน-คิด-เขียน : รวมบทวิจารณ์วรรณกรรมของนักเรียนวรรณกรรม เล่ม 1-3 เป็นหนังสือที่สะท้อนสังคมในมุมมองต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ

กองบรรณาธิการสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์จึงขอเชิญชวนทุกท่านอ่านบทความออนไลน์ได้แล้ววันนี้ที่ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/cjwu

นอกจากนี้ ผู้สนใจส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ (ISSN 2228-804X) ได้ที่ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/cjwu/about/submissions

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กองบรรณาธิการสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
222 ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80160

Walailak Abode of Culture Journal
Walailak University
222 Thaiburi, Thasala District Nakhonsithamarat 80161, Thailand
Tel. +66-7567-2508 Fax. +66-7567-2507
E-mail: culturaljournal.wu@gmail.com
Website: https://www.tci-thaijo.org/index.php/cjwu

Facebook Comments Box