หลักสูตรอบรมทักษะการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้

“มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หมายถึง การปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งชุมชน กลุ่มชน หรือปัจเจกบุคคลยอมรับว่า เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน โดยถือเป็นมรดกที่ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่ชุมชนและ กลุ่มชนสร้างและพัฒนาขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและวัตถุประสงค์ของตน ซึ่งสามารถทำให้คนเหล่านั้นเกิดความภูมิใจในตัวตนและสำนึกหวงแหนในคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน กลุ่มชน หรือปัจเจกบุคคลต่อการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่มีนั้น

ศิลปะการแสดง  (Performing Arts) เป็นสาขาหนึ่งใน ๗ ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หมายถึง   การแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก และเรื่องราวต่างๆ โดยมีผู้แสดงเป็นสื่อ ผ่านทางเสียง ได้แก่ การขับร้อง หรือการเล่นดนตรี และทางร่างกาย เช่น การร่ายรำ การเชิด การเต้น การแสดงท่าทาง ฯลฯ  ศิลปะการแสดงของภาคใต้ที่นิยมและมีชื่อเสียงที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของภาคใต้ที่สำคัญ ได้แก่ มโนราห์  ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่สะท้อนเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ได้อย่างดี

การแสดงมโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงการร่ายรำที่มีชีวิตงดงาม ขับร้องโดยใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ พร้อมกับดนตรีประกอบจังหวะที่เร้าใจ และเครื่องแต่งกายที่วิจิตรประณีต มีรากสืบทอดมาจากความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนในภาคใต้ ซึ่งผู้สืบเชื้อสายโนราจะรวมตัวกันเพื่อบวงสรวง เซ่นไหว้ครูหมอโนราหรือบรรพบุรุษ และเพื่อขจัดปัดเป่าวิญญาณชั่วร้าย พิธีกรรมโนรานั้นเป็นการเชื่อมต่อชุมชนกับบรรพบุรุษ และสืบทอดโนรารุ่นใหม่รวมถึงรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับบุคคลและชุมชนและช่วยอำนวยอวยพรให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี และในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้เสนอโนรา ภายใต้ชื่อ Nora, Dance Drama in Southern Thailand ขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ในฐานะหน่วยงาน ด้านศิลปะและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยได้ตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงมโนราห์ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเกี่ยวกับศิลปะการแสดงจากรุ่นสู่รุ่น จึงฝึกอบรมศิลปะการแสดงภาคใต้ขึ้นเป็นประจำทุกปี

วัตถุประสงค์
1. เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดศิลปะการการแสดงพื้นบ้านการรำมโนราห์
2. เพื่อปลูกฝังความรักและผูกพันในมรดกและภูมิปัญญาวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงให้กับเยาวชน
3. เพื่อเผยแพร่ศิลปะการแสดงและการรำมโนราห์ให้กว้างขวางออกไป

กลุ่มเป้าหมาย
หลักสูตรการฝึกอบรมมโนราห์ระยะสั้น มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
-หลักสูตรที่ 1 ฝึกอบรมสำหรับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน จำนวน 30 ชั่วโมง
คุณสมบัติของผู้สมัคร เป็นนักเรียน นักศึกษา หรือเยาวชน อายุระหว่าง 13 ปี ถึง อายุ 23 ปี มีความสนใจเรื่องศิลปะการรำมโนราห์
-หลักสูตรที่ 2 ฝึกอบรมสำหรับครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ประชาชน จำนวน 30 ชั่วโมง
คุณสมบัติของผู้สมัคร เป็นครูอาจารย์ หรือประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเรื่องเรื่องศิลปะการ รำมโนราห์

รูปแบบกิจกรรมการฝึกอบรม
วิทยากรสาธิตประกอบการบรรยาย และผู้เข้ารับการอบรมร่วมฝึกปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันแล้วแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเพื่อปฏิบัติจริง รวม 30 ชั่วโมง โดยมีเนื้อหาหลักสูตรการอบรมดังนี้
หลักสูตรที่ 1 ฝึกอบรมสำหรับนัครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ประชาชนทั่วไป จำนวน 30 ชั่วโมง
หลักสูตรที่ 2 ฝึกอบรมสำหรับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน จำนวน 30 ชั่วโมง

Facebook Comments Box