อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์เห็นความสำคัญขององค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมในภาคใต้ โดยเฉพาะองค์ความรู้ของบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านนั้น สามารถนำมาเผยแพร่และเป็นแบบอย่างให้เกิดประโยชน์แก่สังคมวงกว้าง แต่ในยุคปัจจุบันความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมถูกถ่ายทอดผ่านบุคคลนั้นกำลังถูกกลืนและสูญหาย   ดังนั้น อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จึงจัดโครงการปราชญ์ไทยภาคใต้ เป็นประจำทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมในภาคใต้ และเพื่อเป็นแบบอย่างแก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป อันจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์ ส่งเสริมและสืบทอดศิลปะและวัฒนธรรมในภาคใต้ให้คงอยู่ต่อไป

โครงการปราชญ์ไทยภาคใต้ คิดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติ เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมีผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ กวีพื้นบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน ครู อาจารย์ ข้าราชการ ที่มีผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้าง อีกทั้งยังดำรงตนเป็นแบบอย่างและทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม รวมถึงเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ให้กับผู้อื่นในรูปแบบต่างๆ โดยเกี่ยวแบ่งปราชญ์บุคคลเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 3 สาขาดังนี้

  1. สาขาศิลปะและการแสดง หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดงของภาคใต้ ซึ่งเป็นได้ทั้งในรูปแบบเดิมและพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย
  • การแสดงพื้นบ้านภาคใต้ เช่น การแสดงมโนราห์ การแสดงหนังตะลุง การขับเพลงบอก เพลงกล่อมเด็กภาคใต้ รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้
  • การดนตรี เช่น การละเล่นเครื่องดนตรี
  • ดนตรี นาฏศิลป์ วิจิตรศิลป์ การแสดงพื้นบ้าน การขับร้อง
  1. สาขาหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ หมายถึง การเย็บปักถักร้อย การแกะสลัก การทอผ้า การจักสาน การทำเครื่องเขิน การทำเครื่องเงิน เครื่องทอง การจัดดอกไม้ การประดิษฐ์ การทำเครื่องปั้นดินเผา งานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม โดยผลงานนั้นต้องสะท้อนความเป็นท้องถิ่น และแสดงอัตลักษณ์ของภาใต้
  2. สาขาการใช้ภาษาและผลงานวรรณกรรมภาคใต้ หมายถึง นักประพันธ์หรือกวีพื้นบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน ครู อาจารย์ ข้าราชการ หรือผู้ที่มีผลงานด้านการใช้ภาษาไทยในรูปแบบของงานเขียน (ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง) ที่ได้เผยแพร่ในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์ เผยแพร่ผ่านสื่อการละเล่นพื้นบ้าน เพลง และสื่อมวลชนต่างๆ ฯลฯ โดยผลงานนั้นต้องสะท้อนความเป็นท้องถิ่น ใช้ภาษาแบบพื้นบ้าน

ปราชญ์ไทยภาคใต้ ประจำปี 2562

นายเสน่ห์ วงษ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2492 ปัจจุบัน อายุ 69 ปี สำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาไทย

นายเสน่ห์ วงษ์กำแหง ชื่นชอบการอ่านวรรณกรรมและบทกวี จึงได้รวมกลุ่มกับนักเขียนในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่อ “กลุ่มวรรณกรรมภูเก็จ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสนใจเรื่องวรรณกรรมเหมือนกัน และพัฒนาผลักดันนักเขียนในกลุ่มให้สร้างสรรค์งานด้านวรรณกรรม มีการรวบรวมผลงานในเหตุการณ์สำคัญ อย่างการเกิดคลื่นสึนามิ ซึ่งเป็นการบันทึกเรื่องราวจากนักเขียนที่ถ่ายทอดความเจ็บปวดผ่านตัวอักษร และเป็นหลักฐานสำคัญที่จารึกไว้เป็นความทรงจำเหตุการณ์ในครั้งนั้น นอกจากนี้ยังเป็นคนสำคัญที่ผลักดันให้นักเขียนใน กลุ่มวรรณกรรมภูเก็จ ได้พัฒนาผลงานให้เป็นที่ยอมรับและสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่เผยแพร่ ผลงานกวีของนายเสน่ห์ วงษ์กำแหง ยังคงรักษาขนบการเขียนแบบดั้งเดิมไว้ เพราะขนบการเขียนแบบสุนทรภู่นั้น มีเสน่ห์ การสัมผัสของคำ และความไพเราะอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเข้าร่วมทำงานกับกลุ่มผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต ศึกษาค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต






prachthai05

นายเสน่ห์ วงษ์กำแหง

นายกิตติทัต ศรวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2508 บ้านท่ามะนาว หมู่ที่ 7 ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ปัจจุบัน อายุ 56 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนบ้านท่ามิหรำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
br>นายกิตติทัต ศรวงศ์ หรือช่างเล็ก มีความสนใจงานด้านศิลปะหนังตะลุง และการทำตัวหนัง ตั้งแต่วัยเยาว์เริ่มจากการสังเกต การเล่นหนังตะลุงทั้งหน้าโรง และหลังโรง สังเกตลักษณะของตัวหนังตะลุงแต่ละคณะว่ามีเอกลักษณ์มีความแตกต่างกันอย่างไร และนำมาพัฒนาฝึกการแกะตัวหนังตะลุงในรูปแบบของตัวเอง มีผลงานการออกแบบรูปหนังตะลุง งานศิลปะการแกะหนังหลากหลายรูปแบบไม่น้อยกว่า 5,000 ชิ้นงาน ช่างเล็กยังคงรักษาขนบการแกะตัวหนังตะลุงให้เป็นรูปแบบเดิม แม้ว่าองค์ประกอบของตัวหนังตะลุงจะเปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นเสื้อผ้า เครื่องประดับ แต่ยังคงรักษาโครงสร้างของตัวหนังตะลุงไว้ ช่างเล็กได้รับการถ่ายทอดความเชื่อของจากเป็นช่างแกะตัวหนังตะลุงจากบิดา ให้ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการดำรงอยู่ในอาชีพนี้ ศาสตร์ คือ ภูมิปัญญาความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการแกะตัวหนังตะลุง และศิลปะในการสร้างสรรค์ผลงาน ช่างเล็กเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาการแสดงหนังตะลุง การแกะหนัง ซึ่งได้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้หอศิลป์หนังตะลุง เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้แก่เยาวชนที่สนใจ



นายกิตติทัต ศรวงศ์

นายบุญเอิบ วรรณคง เกิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พุทธศักราช 2497 ปัจจุบัน อายุ 65 ปี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวัดหงส์แก้ว อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายบุญเอิบ วรรณคง หรือ หนังเอิบน้อย ยอดขุนพล มีความสนใจการแสดงหนังตะลุงตั้งแต่ วัยเยาว์เนื่องจากบิดา คือ นายเคล้า วรรณคง (หนังเคล้าใหญ่) หนังเอิบน้อย จึงได้เรียนรู้และฝึกหัดการเล่นหนังตะลุงจากบิดาและหนังทวีศิลป์ บางตะพง จนได้จัดตั้งคณะหนังตะลุงเป็นของตัวเอง เริ่มออกทำการแสดงหนังตะลุงในทุกจังหวัดของภาคใต้และพื้นที่ใกล้เคียง จนมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ ในปีพุทธศักราช 2519 หนังเอิบน้อย ตะลุงศิลป์ ได้เข้าร่วมประชันการแสดงหนังตะลุง ณ สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการประชันหนังตะลุงครั้งแรกและได้รับรางวัลโล่ทองคำชนะเลิศในการประชัน ทำให้คณะหนังเอิบน้อย ตะลุงศิลป์ เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน นายบุญเอิบ วรรณคง หรือหนังเอิบน้อย ยอดขุนพล ยังคงทำการแสดงหนังตะลุงทั่วทุกพื้นที่ของภาคใต้ และยังคงพัฒนาการแสดงหนังตะลุงของตนเองให้ทันกับยุคสมัยปัจจุบัน เช่น การศึกษาเหตุการณ์บ้านเมือง ข่าวสารต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ปรับใช้เข้ากับเนื้อหาการแสดงหนังตะลุง รวมถึงการสร้างสรรค์บทกลอนในการแสดงหนังตะลุง การปรับปรุงเนื้อหาการแสดงให้เข้ากับวาระต่าง ๆ การนำเครื่องดนตรีอื่นมาประยุกต์ใช้ในการแสดงเพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ให้มาสนใจเห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าของการแสดงหนังตะลุงมากยิ่งขึ้น

นายบุญเอิบ วรรณคง

ปราชญ์ไทยภาคใต้ ประจำปี 2561

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อายุ 59 ปี เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2502 ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 153 หมู่ที่ 1 ถนนต่างตานุสรณ์ ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา รหัสไปรษณีย์ 90160 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาเอกประถมศึกษา (กศ.บ.) วิชาโท ไทยคดีศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา จบการศึกษาระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานาฏศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศศ. ม.) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ สนใจศิลปะการแสดงมโนห์ราตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากได้ญาติทางมารดาเป็นศิลปินมโนห์ราจึงทำให้สัมผัสทั้งการแสดงมโนห์รา พิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับมโนห์รา จึงทำให้ผูกผันและศรัทธากับมโนห์รามาถึงจึงปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ได้ถ่ายทอดศิลปะการแสดงมโนห์แบบดังเดิม อย่างเช่นการรำ จะรำท่ารำที่เป็นมาตรฐานจากครู ดังนั้นการถ่ายทอดหรือการเผยแพร่ต้องมีมาตรฐานตามไปด้วย นี่คือพื้นฐานที่ดีอย่างหนึ่ง ถ้ามาตรฐานชัดเจน การรำที่โดดเด่น ก็คือการรำแม่บท ครูสอน บทปฐม ท่านี้จะเป็นมาตรฐานชัดเจนจากสายท่านขุนอุปถัมภ์นรากร พอปรากฏท่ารำออกไป สามารถรู้ได้ทันทีว่า ศึกษาท่ารำมาจากท่านใด ท่าจะไม่ผิดเพี้ยน รักษารูปแบบการรำแบบดั้งเดิมได้มากที่สุด นอกจากนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ได้ได้ทุ่มเทและอุทิศทำงานเพื่อสังคมโดยการสร้างสรรค์การแสดงมโนห์ราในรูปแบบต่างๆเพื่อให้มโนห์ราเป็นที่รู้จักในระดับชาติและนาชาติ และยังมุ่งมั่นในการส่งเสริมถ่ายทอดศิลปะการแสดงการแสดงมโนห์ราให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจมาโดยตลอด





การคัดเลือกปราชญ์ไทยภาคใต้

ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์

นายนิคม นกอักษร อายุ 69 ปี เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 1 ถนนสระเรียง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช รหัสไปรษณีย์ 80000 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการบริหารโรงเรียน จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช เริ่มรับราชการครูที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช และปัจจุบันประธานกลุ่มนครหัตถกรรม นายนิคม นกอักษร เป็นคนที่ชอบทำงานศิลปะ มาตั้งแต่เด็ก ได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช จนจบระดับ ปวช. ได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำเครื่องถมมาจากครู-อาจารย์ และได้เข้าศึกษาต่อวิชาเครื่องถมที่วิทยาลัยเพาะช่าง กรุงเทพมหานคร นำวิชาความรู้ที่ได้รับมาสอนลูกศิษย์ที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 27 ปี พร้อมทั้งถ่ายทอดแก่นักเรียน นักศึกษา สถาบันอื่น รวมทั้งคนรุ่นใหม่และผู้สนใจ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

นายนิคม นกอักษร ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรม มีมากมายหลายแขนง แต่ละแขนงมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านวัสดุ ฝีมือ เทคนิคการทำ และความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เครื่องถมนคร ก็เป็นงานศิลปหัตถกรรมล้ำค่าแขนงหนึ่งที่บรรพบุรุษชาวนครได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานมาเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 500 ปี จนเป็นที่เลื่องลือ เป็นสินค้าของขวัญของที่ระลึกประจำถิ่น รู้จักกันแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นายนิคม นกอักษร ได้คัดเลือกโดยกระทรวงวัฒนธรรมให้ไปสาธิตจำหน่ายเครื่องถมที่กรุงปักกิ่งประเทศจีน และงานแสดงสินค้านานาชาติ 11 ประเทศ ที่กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน เป็นเวลา 15 วัน นอกจากนี้นายนิคม นกอักษร ได้ได้ทุ่มเทและอุทิศทำงานเพื่อสังคมโดยการสร้างสรรค์งานเครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราชให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติและนาชาติ และยังมุ่งมั่นส่งเสริมถ่ายทอดการทำเครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราชโดยเน้นงานด้านฝีมือและการใช้ลายเฉพาะของช่างนครศรีธรรมราช และได้จัดตั้งกลุ่มนครหัตถกรรมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกทักษะการทำเครื่องถมให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจมาโดยตลอด

การคัดเลือกปราชญ์ไทยภาคใต้

นายนิคม นกอักษร

Facebook Comments Box