งานประชุมวิชาการ
สานสัมพันธ์
วัฒนธรรมอาเซียน

ลักษณะสำคัญของโลกยุคโลกาภิวัตน์คือพรมแดนของความเป็นรัฐชาติหมดความหมายมากขึ้นเนื่องจากลักษณะของการจัดระเบียบเป็นรัฐชาติหรือประเทศใครประเทศมันไม่เอื้อต่อการพัฒนาที่โลกสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรไปอย่างมากจากการพัฒนาที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบแบบแผนของพรมแดนเสียใหม่เพื่อให้การก้าวหน้าของโลกในทิศที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถเป็นจริงได้ต่อไป ในขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคมก็สามารถย่นระยะเวลาและสถานที่ในการติดต่อสื่อสารกัน ทำให้เอื้อต่อการจัดพรมแดนแบบใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจริงเป็นจังได้

พรมแดนอย่างใหม่ที่เกิดขึ้นและจะเป็นพลังให้ประเทศต่างๆในโลกนี้จัดความสัมพันธ์กันภายใต้ระเบียบโลกใหม่ คือพรมแดนของประชาคม โลกปัจจุบันจึงเกิดประชาคมต่างๆขึ้นมากมาย โดยประชาคมหนึ่งจะมีความหมายทั้งในแง่การสร้างศักยภาพของการพัฒนาภายในประชาคม และการต่อรองกับประชาคมอื่นๆ

“ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ แม้ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ความหมายของการเป็นพรมแดนอย่างใหม่ดังที่กล่าวข้างต้นเพิ่งเกิดขึ้นอย่างชัดเขนในช่วงที่มีการประกาศ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งประเทศต่างๆในกลุ่มประเทศอาเซียนมีเจตนาร่วมกันที่จะก้าวไปข้างหน้าในลักษณะที่ทุกประเทศจะรวมกันเป็น “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งชุมชน” (One vision, One identity, One community) ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งในแง่ของการสร้างความเข้มแข็งของตนเองไปในทิศทางดังกล่าว และการร่วมกับประเทศต่างๆในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมอย่างแท้จริง

มิติทางวัฒนธรรมได้รับการประกาศให้เป็นเสาหลักหนึ่งของประชาคมอาเซียน (ASEAN Socio – Cultural Community – ASCC) หมายถึงว่ามิติทางวัฒนธรรมจะต้องมีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นหนึ่งและความเข้มแข็งให้แก่ประคมอาเซียน ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นความเข้มแข็งที่สามารถส่งเสริมการแข่งขันกับประชาคมอื่นได้

มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานและสถาบันทางสังคมที่มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศและประชาคมในทุกมิติ โดยมหาวิทยาลัยจะต้องการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้สามารถทำหน้าที่สำคัญดังกล่าวได้ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์จึงมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในมิติทางวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อในด้านหนึ่งประเทศต่าง ๆ ยังคงเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมตนเองในการที่จะสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ผู้คนในประเทศ ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เกิดมิติใหม่ ๆ ที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งของประชาคม

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์จึงจัดโครงการที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องได้แก่โครงการ “สานสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน” โดยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยสามารถแสดงบทบาททางวิชาการที่จะก่อให้เกิดการบูรณาการทางวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะมีส่วนสำคัญต่อเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนดังกล่าว โดยจะจัดสัมมนาในมิติทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียนเป็นระยะ