มวล.พัฒนาพื้นที่รกร้าง ให้เป็น “สวนวลัยลักษณ์”
ปอดแห่งใหม่ของชาวท่าศาลา

ด้วยแนวคิดหลักของ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นแผ่นดินแห่งความรุ่งโรจน์ Walailak Land of Glory พื้นที่ 255 ไร่ หน้ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่เป็นแอ่งเก็บน้ำ ได้พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยสวนวลัยลักษณ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2560-2561 เป็นสวนสาธารณะที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งคณาจารย์ พนักงานและนักศึกษา พี่น้องประชาชนชาวอำเภอท่าศาลา ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง ตลอดจนผู้ที่มาเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยจากในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ในอนาคตหลังจากมีการเปิดโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สวนวลัยลักษณ์จะเป็นแหล่งให้ผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ได้พักผ่อน สร้างความสดชื่นได้ทั้งกายและใจ

ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Walailak Green University) มหาวิทยาลัยได้มีการพิจารณาใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นสวนสาธารณะ (สวนวลัยลักษณ์: Walailak Park) โดยใช้พื้นที่จำนวน 255 ไร่ แบ่งเป็นผืนน้ำ 130 ไร่ และผืนดิน 125 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่สำหรับให้ประชาชนใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายสำหรับนักศึกษา บุคลากรและประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง ภายในสวนวลัยลักษณ์จะมีเขาวงกต ซุ้มเฟื่องฟ้ารูปหัวใจ ลานมโนราห์สีทอง ร่องน้ำธรรมชาติ และมีระเบียงน้ำสำหรับนั่งพักผ่อน ให้อาหารปลาและชมพระอาทิตย์ตกดินผ่านภูเขาหลวง ซึ่งเป็นทัศนียภาพที่สวยงามและมหาวิทยาลัยยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาอุทยานพฤกษศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยลักษณ์ มีพื้นที่ประมาณ 1,350 ไร่ รองรับการบริการวิชาการและเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยให้แก่นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป และเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนให้กับประชาชน ซึ่งพื้นที่ของอุทยานพฤกษศาสตร์ ประกอบไปด้วย พื้นที่ป่าดั้งเดิม อ่างเก็บนํ้า หอคอยชมเรือนยอด สวนสมุนไพร เส้นทางศึกษาธรรมชาติ สวนกล้วยวลัยลักษณ์ ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรือนกระบองเพชร พื้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้รายรอบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และลานกางเต็น คอยบริการนักท่องเที่ยวที่จะมากางเต้นท์ค้างแรมชมบรรยากาศธรรมชาติ ชมพระอาทิตย์อัสดง และหมอกบนผิวน้ำอันงดงาม ซึ่งตอบโจทย์ SDG 11.2.4 Public access to green spaces และ SDG ที่ 11.4.9 Building on brownfield sites

สวนวลัยลักษณ์ ตั้งอยู่บริเวณถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย ตรงข้ามกับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 255 ไร่ แบ่งเป็นผืนน้ำ 130 ไร่และผืนดิน 125 ไร่ โดยภายในสวนวลัยลักษณ์จะมีจุดเด่นอยู่ที่ลานมโนราห์สีทอง มีระเบียงน้ำให้ผู้มาเยี่ยมเยียนได้นั่งพักผ่อน ให้อาหารปลา พร้อมนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินผ่านภูเขาหลวงซึ่งเป็นทัศนียภาพ ที่งดงามยิ่งเป็นเบื้องหลัง

ผลจากการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ปี 2020 จากจำนวน 912 มหาวิทยาลัย ใน 84 ประเทศทั่วโลก ผลปรากฏว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับที่ 16 ของประเทศ และอันดับที่ 219 ของโลก ด้วยคะแนนรวม 6,650 คะแนน เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ในภาคใต้ได้รับการจัดอันดับที่ 16 ของประเทศ และอันดับที่ 219 ของโลก ด้วยคะแนนรวม 6,650 คะแนน เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ในภาคใต้ จาก UI GreenMetric World University Ranking