เตรียมพบกับพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง : โบราณสถานตุมปัง

โบราณสถานตุมปัง ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช โดยได้ขึ้นประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 33ง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 มีพื้นที่ 80 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวาได้ขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ.2545 ซึ่งจากการกำหนดค่าอายุอิฐตัวอย่างด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence dating: TL) พบว่า แหล่งโบราณสถานตุมปัง มีอายุอยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 หรือประมาณช่วงปี 1200-1399

ภายหลังการขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ.2545 โบราณวัตถุที่ขุดพบได้นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ได้แก่ รูปเคารพสลักจากหินทราย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และโบราณวัตถุบางส่วนได้เก็บรักษาไว้ที่สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้แก่ ชาม เครื่องถ้วย ภาชนะดินเผา ฯลฯ (SDG 11 Sustainable Cities and Communities)

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ร่วมกับหลักสูตรเทคโนโลยีมัลติมีเดีย แอนิเมชัน และเกม สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ จัดทำโครงการเก็บรวบรวมข้อมูลโบราณวัตถุที่ขุดพบในแหล่งโบราณสถานตุมปังด้วยวิธี 3D Laser Scanner ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)

โดยในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง : โบราณสถานตุมปัง ได้รวบรวมข้อมูลโบราณวัตถุที่ขุดพบในโบราณสถานตุมปัง โดยแบ่งโบราณวัตถุออกเป็น 3 ประเภท คือ โบราณวัตถุที่เป็นชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม โบราณวัตถุที่เป็นรูปเคารพ และโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งหลังจากการลงไปเก็บข้อมูลด้วยวิธีการ 3D Laser Scanner ก็จะมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางโบราณคดีว่า โบราณวัตถุแต่ละชิ้นที่ดำเนินการขุดพบมาเป็นโบราณวัตถุชนิดใด การใช้ประโยชน์ อายุ และแหล่งที่ผลิตโบราณวัตถุแต่ละชิ้น เมื่อได้ข้อมูลที่วิเคราะห์มาแล้ว ก็นำไปสู่การพัฒนาเป็น application AR Toompung เพื่อเปิดให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ข้อมูลทางโบราณคดีในรูปแบบสามมิติ และสามารถศึกษาได้ผ่านทางเว็บไซต์และ application เสมือนกับการได้ชมโบราณวัตถุจริง