อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีการกำหนดแนวคิดในการจัดตั้งว่า “เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับวัฒนธรรม โดยให้มีการจัดการศึกษาทางด้านวัฒนธรรมศึกษา เพื่อดำรงรักษาและสืบทอดเอกลักษณ์ และมรดกทางจารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ” เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริง และเกิดการสร้างสรรค์สังคม ชาติ และประเทศ จึงมีการจัดตั้งหน่วยงานการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมขึ้น เริ่มจากมีคณะกรรมการดำเนินงานทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมขึ้นในปี พ.ศ. 2541 ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 เปลี่ยนเป็น “โครงการอาศรมวัฒนธรรม” ครั้นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553 มีมติสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้มีหน่วยงานด้านทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมเป็นทางการชื่อ “อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์”

โดยได้มีการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาความเป็นเลิศทางการวิจัย บริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ และมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้ภารกิจ “การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม” เป็นภารกิจ 1 ใน 4 ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้วิสัยทัศน์การดำเนินงานที่ว่า “อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชั้นนำของภาคใต้ตอนบน ที่มุ่งเน้นการวิจัย การถ่ายทอดภูมิปัญญา และสืบสานประเพณีอันดีงามของไทย” โดยหน่วยงานมีพันธกิจ ดังนี้

  1. สร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการต่อยอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน
  2. ทำนุบำรุง อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นสมบัติของท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม
  3. สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนด้านศิลปะและวัฒนธรรม
  4. ดำเนินงานให้เกิดแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม
  5. สร้างเครือข่าย และประสานความร่วมมือด้วยการบูรณาการและการแลกเปลี่ยนทางศิลปะและวัฒนธรรมทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินโครงการด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง เพื่อความมั่นคงของศิลปะและวัฒนธรรมวัฒนธรรมไทย อาทิ การพัฒนาแหล่งโบราณสถานในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เช่น โบราณสถานตุมปัง โบราณสถานบ้านเนินอิฐ และวัดจันออก-จันตก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยและแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญของภาคใต้ และงานอนุรักษ์ สืบสาน และเผยแพร่ด้านศิลปะและวัฒนธรรม เช่น การจัดกิจกรรมเชิงประเพณีและศาสนา การจัดนิทรรศการ การจัดทำคลังข้อมูล และระบบฐานข้อมูลด้านศิลปะและวัฒนธรรม จัดการการแสดงด้านศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมสู่สารธารณะผ่านสื่อวิทยุ วิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวีดิทัศน์เชิงสารคดี และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น  และยังมีงานด้านวิชาการและงานวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรม เช่น การจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนด้านศิลปะและวัฒนธรรม งานวารสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ หรือผลิตบัณฑิตด้านวัฒนธรรมศึกษา มุ่งสร้างนวัตกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและตอบสนองความต้องการของสังคม (SDG 11.2 Support of arts and heritage)

โดยในปีงบประมาณ 2564 กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานหน่วยงาน “การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ” ประกอบด้วย
1) จัดตั้งอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ “อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์”
2) ขับเคลื่อนงานวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรม บูรณาการร่วมกับสำนักวิชาและภาคีภายนอก
3) ยกระดับโบราณสถานตุมปังสู่โบราณสถานที่มีชีวิตผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
4) การจัดทำหลักสูตรศิลปะและวัฒนธรรมในรูปแบบออนไลน์
5) ยกระดับสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์สู่ TCI กลุ่ม 1
6) มุ่งเป้าการจัดกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม “เบญจประเพณี ที่ห้ามพลาด” ประกอบด้วย ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีบุญให้ทานไฟ ประเพณีบุญทอดกฐินสามัคคี และกิจกรรมทำบุญทวดตุมปัง รายละเอียดเพิ่มเติม>>>https://cultural.wu.ac.th/tradition

 รายละเอียดเพิ่มเติม SDG 11.2 Support of arts and heritage https://cultural.wu.ac.th/

Facebook Comments Box