อนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนาต่อยอด และสร้างความร่วมมือจากชุมชน

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีภาระกิจสำคัญที่ 4 ประการคือ 1) การผลิตและพัฒนากำลังคนระดับสูง ให้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 2)การศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ให้สามารถนำไปใช้ในการผลิตให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ 3) ให้บริการทางวิชาการแก่หน่วยงานต่าง ๆ และ 4)การอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญกับภาระกิจที่ 4 ผนวกกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.2535 มีการกำหนดแนวคิดในการจัดตั้งว่า “เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับวัฒนธรรม” มหาวิทยาลัยจึงตั้งอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ขึ้นมาเพื่อดำเนินงานในด้านนี้ มีเป้าหมายหลักที่สำคัญคือ การอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมของภาคใต้ (Support of arts and heritage) การศึกษาและวิจัยงานด้านศิลปะวัฒนธรรม รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น (Arts and heritage contribution) และการรวบรวมผลงานด้านศิลปะวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทันสมัย พัฒนาโบราณสถานตุมปังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในหลากหลายมิติ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ เส้นทางท่องเที่ยงธรรมชาติ พรรณไม้ และระบบนิเวศท์วิทยาในเขตโบราณสถานตุมปัง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (Public access to buildings) ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีบริการห้องสมุดสำหรับนักศึกษา อาจารย์ บุคคลากร และประชาชนทั่วไป (Public access to libraries) สามารถใช้ฐานข้อมูลต่าง ๆ ทั้งระดับชาติ และนานาชาติ โดยไม่มีค่าบริการ สามารถยืมคืนหนังสือที่อยู่ภายในศูนย์บรรณาสารและสื่อการศึกษา รวมถึงห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย (Public access to libraries) พร้อมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของมหาวิทยาลัย (Public access to green spaces) ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ให้บริการโดยไม่มีค่าธรรมเนียม

ในปี 2565 มหาวิทยาลัยเร่งดำเนินการสร้างอาคารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ทันสมัย (Public access to museums) เพื่อรักษาอัตลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กลายเป็นชุมชนที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนโบราณ มีร่องรอยแหล่งโบราณคดีซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดนครศรีธรรมราช และขุดพบแหล่งโบราณสถานตุมปัง เมื่อปี 2544

โบราณสถานตุมปังเป็นแหล่งโบราณสถานที่ได้รับการจดทะเบียนแหล่งโบราณสถานจากกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการพัฒนาโบราณสถานตุมปังในหลากหลายมิติ เพื่อให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาโบราณสถานตุมปังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต แบ่งออกเป็น 4 ด้าน
1. การพัฒนาส่งเสริมให้เกิดการวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานตุมปังในมิติต่าง ๆ เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาโบราณสถานตุมปังให้มีความยั่งยืน
2. การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักเห็นคุณค่าและความสำคัญของแหล่งโบราณสถานตุมปัง ซึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของคนในชุมชุน และเป็นพื้นที่มีเต็มไปด้วยศรัทธา ความเชื่อ เรื่องเล่า ที่ถ่ายถอดจากรุ่นสู่รุ่น
3. การพัฒนาโบราณสถานตุมปังด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการนำเสนอข้อมูล
4. การส่งเสริมสนุบสนุนให้เกิดการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของโบราณสถานตุมปังและโบราณสถานอื่น ๆ ในจังหวักนครศรีธรรมราช

เป้าหมายการพัฒนาแหล่งเรียนรู้โบราณสถานตุมปัง โดย อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เป็นแหล่งรวมรวมทรัพยากรสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยของมหาวิทยาลัย และมีทรัพยากรสารสนเทศเพื่อส่งเสริมความรู้ ทักษะ ความสามารถในการศึกษา การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิต ที่เปิดให้บริการสำหรับทุกคน พร้อมทั้งสนับสนุนและเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกนอกเหนือจากประชาคมวลัยลักษณ์ ได้มีโอกาสในการเข้าใช้ห้องสมุดเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ฟรี สำหรับการใช้พื้นที่ การค้นคว้าและการใช้งานทรัพยากรสารสนเทศภายในห้องสมุด

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาได้พัฒนาให้เป็น Living and Digital Library ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ e-Resources, e-Services, e-Training, Digital Content และ Learning Space ปัจจุบันมีทรัพยากรสารสนเทศสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัย แยกเป็นประเภท หนังสือ เอกสาร จุลสาร งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ จำนวน 207,924 เล่ม วารสารฉบับพิมพ์ จำนวน 260 ชื่อเรื่อง และสารสนเทศในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ประเภท หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 9,487 ชื่อเรื่อง ฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ วิทยานิพนธ์ออนไลน์ จำนวน 27 ฐานข้อมูล นอกจากนี้ได้พัฒนา Smart Classroom เพื่อรองรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์และในแบบ Active Learning มีการจัดทำบทเรียนออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บทเรียน Thai MOOC การศึกษาแบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดทำคลิปการเรียนการสอนให้อาจารย์นำไปเผยแพร่ โดยการถ่ายทำในสตูดีโอ และใช้เครื่องมือการบันทึกการสอนด้วยตนเองโดยใช้อุปกรณ์ Swivl รวมทั้งจัดเตรียมห้องสำหรับการสอนออนไลน์

รายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา
บริการทรัพยากรสารสนเทศ
แนะนำบริการห้องสมุดศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มวล.
ประมวลภาพ  

ด้วยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีภารกิจหลักด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรม อันเป็นจารีตประเพณี รวมทั้งศิลปะบริสุทธิ์และศิลปะ-ประยุกต์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์รวมของชุมชนและเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม โดยมีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนเครือข่ายด้านศิลปะและวัฒนธรรมของภาคใต้ (Cultural Hub) ผ่านการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1) พัฒนาโบราณสถานตุมปังให้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้โบราณสถานที่มีชีวิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย 2) อนุรักษ์ สืบสาน รักษาและต่อยอดขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา และยกระดับการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนผ่านการจัดทำหลักสูตรที่ผ่านการรับรองในระดับประเทศ 3)สร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรม และบูรณาการภารกิจด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมเข้ากับพันธกิจอื่น ๆ และ 4) เป็นแหล่งตีพิมพ์วารสารด้านศิลปะและวัฒนธรรมและยกระดับสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์จากวารสารระดับชาติสู่ระดับนานาชาติ

อาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมของภาคใต้ “อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในระบบ นอกระบบ แหล่งศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาตลอดชีวิต ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เป็นศูนย์การจัดกิจกรรมบริการทางวิชาการ การส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม พัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตแก่นักศึกษา และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในสภาพที่หลากหลายทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ช่วยเสริมสร้างสุนทรียภาพความตระหนักในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมของภาคใต้ “อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์” เป็นอาคารที่รวบรวมศิลปะและวัฒนธรรมของภาคใต้ทั้งหมด ผ่านการนำเสนอด้วยสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีแผนในการก่อสร้างอาคารในปีงบประมาณ 2565 บริเวณทางเข้าแหล่งโบราณสถานตุมปัง ทั้งนี้ อาคารแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว จะเปิดให้บริการในปีงบประมาณ 2566 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามภารกิจข้อที่ 4 ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือ อนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรม อันเป็นจารีตประเพณี รวมทั้งศิลปะบริสุทธิ์และศิลปะประยุกต์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์รวมของชุมชนและเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวการขับเคลื่อน SDG ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในหัวข้อ SDG ที่ 11.2.3 Public access to museums การเข้าถึงพิพิธภัณฑ์โดยสาธารณะ

แนวความคิดในการออกแบบอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ “อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์” คือ การนำโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของแหล่งโบราณสถานตุมปัง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 33 ง หน้า 5วันที่ 9 เมษายน 2544 พื้นที่ 80 ไร่ ๓ งาน 80 ตารางวา นอกจากนี้ในการออกแบบอาคารยังได้นำแนวคิดของประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช และวิถีชีวิตของชาวใต้มาผสมผสานในการออกแบบอาคารอีกด้วย

กรอบแนวคิดในการออกแบบอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ “อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์”

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีการกำหนดงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาความเป็นเลิศทางการวิจัย บริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ทำหน้าที่ประสานและแสวงหาเครือข่ายและทรัพยากรจากภายในและภายนอกในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และการศึกษาวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรม บูรณาการงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมกับพันธกิจการจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และอื่น ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชั้นนำของภาคใต้ตอนบน ที่มุ่งเน้นการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม การวิจัย การถ่ายทอดภูมิปัญญา และสืบสานประเพณีอันดีงามของไทย

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษา บุคลากรและประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน รักษาและต่อยอดงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น นำไปสู่การสืบทอดให้คงอยู่คู่สังคมไทยสืบไปผ่านโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ โดยมีทั้งโครงการ/กิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ และกิจกรรมแบบเฉพาะกิจที่ได้สนับสนุน ส่งเสริม หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับส่วนราชการ องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน หรือหน่วยงานภายนอก

โครงการ/กิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ แบ่งเป็น 3 หมวดกิจกรรมหลัก คือ

1. กิจกรรมหลักส่งเสริมวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรม อาทิ การดำเนินงานวารสารวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรมสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ “Asian Journal of Arts and Culture” การจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ “สานสัมพันธ์วัฒนธรรมอาเซียน” โครงการศึกษาความเชื่อมโยงของอายุแหล่งโบราณสถานตุมปังกับแหล่งโบราณสถานอื่น ๆ โครงการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและพัฒนาทักษะและสร้างเกณฑ์มาตรฐาน ด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ (หลักสูตรฝึกอบรมศิลปะการแสดงรำมโนราห์ออนไลน์) โครงการคัดเลือกปราชญ์ไทยภาคใต้

2. กิจกรรมหลักอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม อาทิ การจัดกิจกรรมเชิงประเพณีและเทศกาล ได้แก่ โครงการวลัยลักษณ์สงกรานต์สืบสานความเป็นไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม โครงการสืบสานประเพณีบุญสารทเดือนสิบจังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการวลัยลักษณ์ลอยกระทง เสริมส่งประเพณี สู่วิถีธรรมชาติ และจัดโครงการเนื่องในวันสำคัญและประเพณีสำคัญของศาสนา ในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (สร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ เป็นคนดีและคนเก่ง) ได้แก่ งานประเพณีทำบุญทอดกฐินสามัคคี กิจกรรมทำบุญทวดตุมปัง กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาศาสนสถาน กิจกรรมสืบสานประเพณีทำบุญให้ทานไฟ กิจกรรมมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ (ขบวนผ้าพระบฎ มวล.บูชาพระบรมธาตุ) กิจกรรมถวายเทียนพรรษา พร้อมทั้งจัดการโครงการประกวดแข่งขันด้านศิลปะและวัฒนธรรม เช่น การประกวดร้องเพลงร้องเรือเด็กภาคใต้ (เพลงกล่อมเด็ก) การประกวดเขียนเรียงความ การประกวดขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง การประกวดขับกลอนและพูดเลียนเสียงตัวตลกหนังตะลุง การประกวดเพลงบอกเยาวชน

3. กิจกรรมหลักงานอุทยานโบราณคดี อาทิ กิจกรรมฝึกอบรมยุวมัคคุเทศก์ 3 ภาษา (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน) โครงการพัฒนาสื่อสารสนเทศเพื่อการนำชมและเผยแพร่ด้านอุทยานโบราณคดี

และอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี อาทิ โครงการศึกษาและรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช โครงการศึกษา (ปริวรรต) เอกสารโบราณ ประเภทหนังสือบุด โครงการ “ค่ายเยาวชนรักษ์โบราณสถาน เรียนรู้วัฒนธรรมและธรรมชาติ” ฯลฯ >> อ่านต่อ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพราะมรดกทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ การให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมเป็นการตระหนักรู้ในคุณค่าทางอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นตัวเอง มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น มีคุณค่าและความงดงามในรูปแบบที่แตกต่างและมีความหลากหลาย มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรม โดยมอบหมายให้อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ภายนอกมหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ

มหาวิทยาลัยวางเป้าหมายตามแนวทางอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage ของ The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization เพื่อสร้างความตระหนักรู้ Raising awareness ส่งเสริมสนับสนุนอนุรักษ์ Preservation และสร้างช่องทางการเข้าถึง Access เพื่อให้เกิดการรับรู้และเรียนรู้มรดกทางที่จับต้องไม่ได้ เป็นกระบวนการในการอนุรักษ์ พัฒนา ชุมชนและเมืองให้มีความมั่นคง และยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายในการสนับสนุนส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แบ่งออกเป็น 5 ด้าน
1. ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ได้แก่ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ กิจกรรมถวายเทียนพรรษา งานบุญทอดผ้าป่า ประเพณีทอดกฐิน >> อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
2. ศิลปะการแสดงท้องถิ่นภาคใต้ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมมโนราห์ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมมโนราห์ >> อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
3. พิธีกรรมและเทศกาลท้องถิ่นภาคใต้ ได้แก่ พิธีทำบุญทวดตุมปัง >> อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
4. ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติท้องถิ่นภาคใต้ ได้แก่ กิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติและทรัพยากรของท้องถิ่นภาคใต้ อบรมยุวมัคคุเทศก์โบราณสถานตุมปัง >> อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
5. งานช่างฝีมือดั้งเดิมของท้องถิ่นภาคใต้